ยินดีต้อนรับสู่ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต. คณะวิศวกรรมศาสตร์
มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ.

ประเทศไทยได้สถาปนาความมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็น “ดีทรอยต์แห่งเอเชีย” ในอุตสาหกรรมยานยนต์อีกทั้งเป็น “ซิลิกอนวัลเลย์” ในวงการอิเล็กทรอนิกส์ ความมุ่งมั่นดังกล่าวได้รับการขับเคลื่อนจนกระทั่งในปัจจุบัน ประเทศไทยเป็นหนึ่งในกลุ่มผู้ส่งออกยานยนต์รายใหญ่ของโลก อีกทั้งเป็นผู้ส่งออกหมายเลขหนึ่งของโลกในชิ้นส่วนฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ นอกจากนี้ประเทศไทยยังมุ่งมั่นที่จะก้าวขึ้นเป็นผู้นำในภูมิภาคอาเซียนในด้านอุตสาหกรรมปิโตรเคมี รวมทั้งอุตสาหกรรมการสำรวจ และผลิตน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ ในมุมมองที่กว้างขึ้นไปในระดับโลก ได้มีกระแสการวิจัยที่มุ่งสร้างสรรค์แหล่งผลิตพลังงานแบบใหม่ อาทิ เซลล์เชื้อเพลิง แบตเตอรีประสิทธิภาพสูง รวมถึงอุปกรณ์แปลงผันพลังงานอื่นๆ การค้นคว้าวิจัยในสหัสวรรษใหม่นี้ยังรวมไปถึงนาโนเทคโนโลยี หนึ่งในเทคโนโลยีดังกล่าวได้แก่การพัฒนาโลหะนาโนชนิดใหม่เพื่อใช้ในอุตสาหกรรมที่ต้องการความสะอาดทางอาชีวอนามัยสูง เป็นต้น


เพื่อที่จะขับเคลื่อนเทคโนโลยีดังกล่าวไปข้างหน้า บุคคลทั่วไปอาจคิดว่าเป็นหน้าที่ของวิศวกรเครื่องกลเท่านั้นที่จะขับเคลื่อนอุตสาหกรรมยานยนต์ หรือเป็นหน้าที่ของวิศวกรไฟฟ้าเท่านั้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ หรือแม้กระทั่งคงเป็นหน้าที่ของนักวิทยาศาสตร์เพียงกลุ่มเดียวที่จะค้นคว้าวิจัยเทคโนโลยีใหม่ๆ ทั้งทางด้านพลังงานหรือนาโนเทคโนโลยีตามที่กล่าวมาข้างต้น


ทัศนะดังกล่าวหาได้ผิดเสียทีเดียวไม่ หากแต่เราจำต้องมีทัศนคติหรือมุมมองที่ถูกต้องมากกว่านั้น ใช่หรือไม่ว่าอุตสาหกรรมต่างๆ ล้วนแต่ต้องการองค์ความรู้จากหลากหลายสาขาวิชาหรือที่เรียกว่าองค์ความรู้แบบสหวิทยาการในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรม และใช่หรือไม่ว่าเมื่อลงลึกไปยังรากฐาน ที่สุดของอุตสาหกรรมต่าง ๆ ทุกสิ่งทุกอย่างล้วนถูกสร้างขึ้นจากวัสดุทั้งสิ้น ด้วยเหตุนี้จึงอาจกล่าวได้ว่าวิศวกรรมวัสดุเป็นสาขาวิชาหนึ่งที่ความสำคัญในระดับฐานราก ในการขับเคลื่อนเทคโนโลยีในปัจจุบันหรือในอนาคต

วิชาชีพวิศวกรรมวัสดุ เมื่อมองในแง่ภูมิปัญญาที่ได้รับการสั่งสมมา อาจกล่าวได้ว่ามันคือวิทยาการที่เก่าแก่อันหนึ่งของมวลมนุษยชาติ หากแต่เมื่อมองในแง่ความเป็นศาสตร์ เราอาจกล่าวได้ว่าวิศวกรรมสาขานี้เพิ่งถือกำเนิดขึ้นมาได้ไม่นาน และมีผู้เชี่ยวชาญด้านนี้เพียงหยิบมือเดียวทั้งประเทศ นั่นหมายความว่ายังมีตลาดงานและสิ่งท้าทายอีกมากให้เยาวชนรุ่นใหม่เข้ามาบุกเบิกไปข้างหน้า ยกตัวอย่างเช่นในการพัฒนายานยนต์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมหรืออีโคคาร์ (eco car) ในปัจจุบันได้มีความพยายามกันทั่วโลกในการวิจัยหาโลหะสำหรับยานยนต์ที่มีความแข็งแรงสูงขึ้นในขณะที่มีน้ำหนักเบาลง หรือที่มีความทนทานต่อสภาวะการใช้งานได้มากขึ้น ที่ มจพ. เราได้ดำเนินกิจกรรมต่างๆ เหล่านี้ไปพร้อมๆ กับกระแสการวิจัยในระดับโลก เช่น การพัฒนาเหล็กกล้าสองเฟสที่มีความแข็งแรงมากขึ้น หรือการพัฒนาชิ้นส่วนท่อร่วมไอเสียให้ทนทานต่อการใช้งานยิ่งขึ้น นอกจากนี้การมีความรู้ที่ครอบคลุมรอบด้านทั้งทางโครงสร้างและสมบัติของวัสดุรวมถึงการออกแบบถือได้ว่าเป็นเอกลักษณ์ที่จะพบในสาขาวิศวกรรมวัสดุที่เน้นโลหะเท่านั้น


นอกจากนี้ในการพัฒนาแหล่งผลิตพลังงานแบบใหม่ เช่นเพื่อใช้ในอีโคคาร์ ได้มีการพัฒนาแบตเตอรี หรือเซลล์เชื้อเพลิงกันอย่างแพร่หลายทั่วโลก ในกระแสการวิจัยนี้ มจพ.ได้ร่วมมือในการพัฒนาชิ้นส่วนโลหะที่ใช้ในเซลล์เชื้อเพลิงชนิดโซลิดออกไซด์กับมหาวิทยาลัยชั้นนำในภาคพื้นทวีปยุโรป อันได้แก่ สถาบันเทคโนโลยีเกรอนอบล์ ประเทศฝรั่งเศส ซึ่งได้รับการจัดอันดับโดย QS World University Ranking ในปี 2012 ให้เป็นมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดทางด้านวัสดุศาสตร์ของประเทศฝรั่งเศส ในปัจจุบัน มจพ. ได้มีข้อตกลงในการผลิตบัณฑิตปริญญาเอกร่วมกันกับมหาวิทยาเกรอนอบล์ โดยตั้งเป้าหมายว่าเมื่อนักศึกษาสำเร็จปริญญาเอกจะได้รับปริญญาบัตรสองใบทั้งจาก มจพ. และมหาวิทยาลัยดังกล่าวในประเทศฝรั่งเศส


ในส่วนของอุตสาหกรรมฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ ในอดีตที่ผ่านมา เราได้มีปริญญานิพนธ์ในสาขาเทคโนโลยีการผลิตในความร่วมมือกับบริษัทชั้นนำด้านฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ เช่นบริษัทเวสเทิร์นดิจิตอล (ประเทศไทย) และบริษัทซีเกทเทคโนโลยี (ประเทศไทย) ในการศึกษาวิจัยเพื่อปรับปรุงประสิทธิภาพของกระบวนการผลิต รวมไปถึงในการลดของเสียในกระบวนการประกอบชิ้นส่วนในอุตสาหกรรมดังกล่าว การมีความรู้ทั้งทางด้านวัสดุ กรรมวิธีการผลิต และทักษะทางวิศวกรรมการจัดการ จะทำให้ผู้เรียนสามารถมองปัญหาได้อย่างรอบด้านอันจะทำให้สามารถปรับปรุงกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพได้อย่างสูงสุด การเรียนที่มีการบูรณาการองค์ความรู้ทั้งสามส่วนนั้นพบได้เฉพาะในการศึกษาทางด้านวิศวกรรมวัสดุเท่านั้น


ในด้านอุตสาหกรรมปิโตรเลียมและปิโตรเคมี วิศวกรวัสดุคือบุคลากรผู้ทรงความรู้ที่ลึกซึ้งมั่นคงในด้านการกัดกร่อนและการวิเคราะห์ความเสียหายหรือการวิบัติของวัสดุ มจพ.ได้รับการถ่ายทอดความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในทวีปยุโรปมาอย่างต่อเนื่อง อาทิการถ่ายทอดองค์ความในการวิเคราะห์การวิบัติของวัสดุจากอดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์ประยุกต์โรเซนไฮม์ ประเทศเยอรมนี ในส่วนของอุตสาหกรรมการผลิตและสำรวจน้ำมันและแก๊สธรรมชาติ มจพ.ได้รับความร่วมมือทางวิชาการจากบริษัทน้ำมันแนวหน้าของประเทศฝรั่งเศส (บริษัทโททาล) และของประเทศไทย (บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ ปตท.สผ.) ในการบริจาคเครื่องมือทดสอบประสิทธิภาพของสารยับยั้งการกัดกร่อนในท่อส่งน้ำมัน และแก๊สธรรมชาติรวมถึงงบประมาณในการฝึกอบรมทั้งสิ้นประมาณ 26 ล้านบาท ห้องปฏิบัติการดังกล่าวได้รับการติดตั้ง ณ สถาบันนวัตกรรมเทคโนโลยีไทย-ฝรั่งเศส ของมหาวิทยาลัยโดยมีทีมผู้เชี่ยวชาญด้านวิศวกรรมวัสดุจากคณะวิศวกรรมศาสตร์เข้าร่วมดำเนินการ ห้องปฏิบัติการดังกล่าวมีเพียงแห่งเดียวในประเทศและ ได้ดำเนินการจนเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค ดังจะเห็นได้จากในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา มจพ.ได้รับการเชิญจากบริษัทในกลุ่มประเทศอาเซียนให้ไปถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านนี้แก่คณาจารย์และ วิศวกรบริษัทน้ำมันในประเทศอินโดนีเซียซึ่งเป็นศูนย์กลางสำคัญในการขุดเจาะน้ำมันของภูมิภาคอาเซียน ในส่วนอุตสาหกรรมปิโตรเคมี อาจารย์และนักศึกษาของ มจพ. ได้ประสบความสำเร็จในการพัฒนาปรับปรุงชิ้นส่วนโลหะผสมสูงให้แก่บริษัทในกลุ่ม SCG เพื่อให้มีอายุการใช้งานที่สูงขึ้น นอกจากนี้ มจพ.ยังมีบันทึกความเข้าใจความร่วมมือทางวิชาการกับบริษัท IRPC ในกลุ่ม ปตท. เพื่อสร้างความร่วมมือด้านการสอน การวิจัย และการฝึกงานของนักศึกษาอีกด้วย


จากที่กล่าวมาข้างต้นอาจเห็นได้ว่า มจพ. มีปรัชญาและกระบวนการศึกษามาอย่างยาวนานในการมุ่งบ่มเพาะวิศวกรในรูปแบบของมหาวิทยาลัย ในยุโรปโดยเฉพาะอย่างยิ่งในแบบเยอรมนีและฝรั่งเศสนับแต่แรกก่อตั้งมหาวิทยาลัยในชื่อโรงเรียนเทคนิคไทย-เยอรมัน โดยมีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับภาคอุตสาหกรรม มจพ. มีความมุ่งมั่นที่จะสร้างวิศวกรซึ่งทำงานเป็น อีกทั้งมีบุคลิกลักษณะและภูมิปัญญาที่แหลมคม และมีความเป็นผู้นำ เพื่อให้บรรลุซึ่งเป้าหมายดังกล่าว มจพ. ได้รับอาจารย์ซึ่งสำเร็จการศึกษาจากมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก ทั้งจากยุโรป อเมริกา เอเชีย และออสเตรเลีย อีกทั้งยังมีวัสดุอุปกรณ์และ เครื่องมือในการสอนและวิจัยที่เพรียบพร้อมเพื่อสร้างความเข้มแข็งในทักษะการปฏิบัติให้กับนักศึกษา ไม่เพียงแต่วัสดุอุปกรณ์เท่านั้น มจพ. ยังมีความร่วมมือกับมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลก ดังเช่น สถาบันเทคโนโลยีเกรอนอบล์ตามที่กล่าวมาข้างต้น ยิ่งไปกว่านั้น คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังได้มีบันทึกความเข้าใจในการสร้างความร่วมมือทางวิชาการกับมหาวิทยาลัยที่มีชื่อเสียงในทวีปเอเชีย อาทิ มหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีโปฮัง (POSTECH) แห่งประเทศเกาหลีใต้ ซึ่งอยู่ในกลุ่มหนึ่งในสิบของมหาวิทยาลัยที่ดีที่สุดในเอเชียในปี 2555 สถาบันเทคโนโลยีกิวชิวแห่งประเทศญี่ปุ่น และมหาวิทยาลัยตุนกูอับดุลราห์มานแห่งประเทศมาเลเซีย


ในส่วนของภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการผลิต ภาควิชาฯ ได้ถือกำเนิดขึ้นมานับแต่ปีพุทธศักราช 2521 โดยเริ่มจัดการเรียนการสอนในสาขาเทคโนโลยีการผลิต จากนั้น ภาควิชาฯได้เริ่มจัดการเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรมวัสดุเป็นเวลามากว่าทศวรรษ ในปัจจุบันมีการเรียนการสอนในหลักสูตรวิศวกรรมวัสดุทั้งในระดับปริญญาตรี โท และเอก ภาควิชาฯ ได้มีบทบาทเชิงรุกในวงการโลหวิทยาของประเทศ ดังเช่นในปี 2555 เราได้เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมวิชาการโลหวิทยาแห่งประเทศไทย โดยมีผู้เข้าร่วมการประชุมทั้งจากภาคการศึกษาและอุตสาหกรรมทั้งจากในและต่างประเทศ ในปี 2556 นักศึกษาปัจจุบันและศิษย์เก่าภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการผลิตได้สร้างประวัติศาสตร์ในการคว้ารางวัลพอสโค-ไทยน๊อกซ์ ครั้งที่ 17 (17th POSCO-Thainox Awards) ซึ่งเป็นรางวัลอันทรงเกียรติระดับชาติที่มอบให้แก่ผู้มีผลงานและนำเสนอผลงานดีเด่นทางด้านกระบวนการทางโลหวิทยา ทั้งในระดับบุคคลทั่วไปและระดับนักศึกษาปริญญาตรี และในปีเดียวกันนั้น ภาควิชาวิศวกรรมวัสดุและเทคโนโลยีการผลิตก็ได้ประสบความสำเร็จในผลิตดุษฎีบัณฑิตในความร่วมมือกับ Grenoble INP ประเทศฝรั่งเศส ความสำเร็จดังกล่าวถือเป็นหมุดหมายสำคัญของภาควิชาฯในการสร้างหลักสูตรและผลงานวิจัยให้มีคุณภาพสูงทัดเทียมกับมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลก


จากผลจากการจัดการเรียนการสอนอย่างทุ่มเทดังกล่าวทำให้นักศึกษาของเราได้มีประสบการณ์การฝึกงานและการทำงานในเส้นทางวิชาชีพในบริษัทชั้นนำของประเทศ อาทิ บริษัทโตโยต้า, ฮอนด้า, นิสสัน, ซัมซุงอิเล็กทรอนิกส์, มินิแบ, เม็กเทค, ปตท.สผ., ไออาร์พีซี, ไทยปาร์คเกอร์ไรซิ่ง, พอสโคไทยน็อกซ์, ไทยโตเคนเทอร์โม, สหวิริยาสตีลอินอัสทรี, บางกอกกล๊าส และมิเชอลีน


ในปี 2557 ภาควิชาฯ ได้เปิดโครงการพิเศษ (นานาชาติ) สาขาวิศวกรรมวัสดุ โครงการนี้นับเป็นนวัตกรรมทางการศึกษาใหม่สำหรับอนาคตอันใกล้ที่ประเทศไทยจะเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน อันเป็นยุคที่ทักษะ การสื่อสารภาษาอังกฤษของวิศวกรมีความจำเป็นอย่างยิ่งยวด โครงการดังกล่าวนับเป็นโครงการแรก ๆ ในประเทศไทยที่จะสร้างเส้นทางอันมั่นคงสู่การเป็นวิศวกรวัสดุเพื่อทำงาน ในอุตสาหกรรมหลักของประเทศ อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ ปิโตรเลียม ปิโตรเคมี และอุตสาหกรรมโลหะ โดยเฉพาะอย่างยิ่งมีเป้าหมายสร้างความได้เปรียบเชิงการแข่งขันให้บัณฑิตของเรามีศักยภาพทางภาษาอังกฤษเพื่อมุ่งสู่เส้นทางวิชาชีพทั้งในระดับภูมิภาคอาเซียนและ ในวงการธุรกิจอุตสาหกรรมระดับโลก


จุดเด่นที่เข้มแข็งทั้งหมดนี้ล้วนพบได้ในโครงการพิเศษ (นานาชาติ) สาขาวิศวกรรมวัสดุ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ